โครงการพิเศษภาคใต้

โครงการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวชาวมอแกน

เกาะเหลา  จังหวัดระนอง


ข้อมูลทั่วไป

“ชาวเล” หรือ “ยิปซีทะเล”  หรือ Sea Gypsy ตามชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เรียกตนเองว่า  มอแกน มอแกลน และ อุรักละโว้ย  ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเรือ “ก่าบาง” ท่องไปในน่านน้ำเกาะแก่งต่างๆในทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่แนวฝั่งเมืองมะริด  ประเทศพม่า ลงมาถึงหมู่เกาะสุรินทร์  และต่ำลงไปจรดประเทศมาเลเซีย  หลังจากประเทศพม่าปิดพรมแดน ชาวเลเหล่านี้ก็ไม่สามารถสัญจรไปมาหาสู่ญาติหรือชาวเลด้วยกันในประเทศพม่า ได้ดังเดิม จากการเป็นชนเผ่าที่เร่ร่อนไปในทะเล มีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากชาวไทยทั่วไป ทำให้ขาดการติดต่อกับผู้คนแผ่นดิน แม้จะปรากฏข้อมูลทางประวัติศาสตร์ถือว่าชาวเลเป็นประชากรไทยมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 แต่การขาดการติดต่อกับภาครัฐ ทำให้ชาวเลกลายเป็นคนไร้รัฐ ชาวเลมีภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน ทั้ง 3 กลุ่มสื่อสารกันด้วยภาษาของตน ปัจจุบัน ประชากรชาวเลทั้ง 3 กลุ่มรวมกัน มีอยู่ประมาณ 6 พันคน


สภาพชุมชนชาวมอแกน เกาะเหลา

เดิมชาวมอแกนหยุดพักที่เกาะเหลา เพียงเพื่อหลบภัยจากฤดูมรสุม แต่เมื่อถูกกดดันไม่ให้ใช้ชีวิตเร่ร่อนในทะเล ไม่สามารถเดินทางข้ามเขตแดนไปยังประเทศพม่า และประเทศอื่นเหมือนที่เคยปฏิบัติกันมา ชาวมอแกนจึงอาศัยอยู่ถาวรมากขึ้น ผู้สูงอายุชาวมอแกนกล่าวว่าวิถีชีวิตชาวมอแกนที่เกาะเหลายังคงไม่เปลี่ยน แปลงมากเท่าไรนัก ยังคงอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นเผ่า มีการพึ่งพาอาศัยกันแบบตามมีตามเกิด ชาวมอแกนมีค่านิยมในการมีครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กสาวหลายคน เริ่มมีเหย้าเรือนตั้งแต่อายุ 13-14 ปี  พ่อแม่วัยรุ่นจึงขาดประสบการณ์ และแม้มีครอบครัวแล้ว บางคู่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ การมีคู่ครองตั้งแต่อายุน้อยทำให้แม่ไม่ค่อยมีความรู้ ทักษะการเลี้ยงดูลูกขึ้นอยู่กับครอบครัวของแต่ละคน

การสื่อสารในกลุ่มประชากรมอแกนที่เกาะเหลายังใช้ภาษามอแกนเป็นหลัก เมื่อต้องพูดภาษาไทย ผู้ชายสามารถพูดได้บ้างแต่มักจะไม่พูดถ้าไม่คุ้นเคย กระนั้นก็ตาม ทักษะในการสื่อโดยพูดภาษาไทยค่อนข้างต่ำเหมือนชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยทั่วไป การใช้ภาษาไทยพูดจากันขึ้นอยู่กับวัย วัยรุ่นจะใช้ภาษาไทยมากขึ้น

ผู้หญิงชาวมอแกนส่วนใหญ่อ่านหนังสือไทยไม่ได้ ฟังภาษาไทยคำง่ายๆได้แต่ขาดทักษะในการพูด หากไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จักหญิงชาวมอแกนแทบจะไม่พูดด้วย ซึ่งเป็นการส่งผลให้เด็กๆมอแกนขาดทักษะในการพูดภาษาไทยไปด้วย แม่ชาวมอแกนได้เรียนน้อยหรือไม่ได้เรียน ส่วนมากจบชั้น ป. 2 แต่อ่านหนังสือไม่ได้

ในระบบสังคมของชาวมอแกน ผู้ชายเป็นผู้นำในสังคม มีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว หน้าที่การเลี้ยงดูลูกเป็นเรื่องของผู้หญิง ชาวมอแกนจึงสนใจที่จะพูดถึงและให้ลูกชายเรียนหนังสือมากกว่าลูกสาว

ชาวมอแกนไม่มีบัตรประจำตัวจึงไม่สามารถทำงานหรือรับจ้างแรงงานเหมือนชาว พม่า เพราะจะมักถูกตำรวจจับ จึงยึดอาชีพประมงโดยลงอวนที่ปากคลองบริเวณเกาะเหลา เมื่อได้ปู ปลา ก็จะนำไปขายที่สะพานปลา เพราะไม่รู้หนังสือ จึงมักถูกเอาเปรียบ เหตุที่ยังเป็นคนไร้รัฐ ชาวมอแกนรับจ้างนายทุนชาวไทยไปจับปลาในน่านน้ำลึกก็มักถูกเอาเปรียบค่าจ้าง ค่าแรง


สภาพของเด็กชาวมอแกน เกาะเหลา

จำนวนประชากรเด็กชาวมอแกน เมื่อมูลนิธิฯ เริ่มโครงการ มีเด็กเล็ก 59 คน เด็กระดับประถม  60 คน เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เกิดที่เกาะเหลา และที่เกาะช้าง จังหวัดระนอง เด็กเล็กจำนวนมาก อยู่ในสภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญา หน้าตาอิดโรย สมองทึบ เหม่อลอยไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเช่นเด็กทั่วไป เด็กส่วนใหญ่มีสุขภาพอ่อนแอ เด็กเล็กมักมีน้ำมูกไหลตลอดเวลา เป็นโรคผิวหนัง หูมีน้ำหนวก มีบาดแผลที่เท้าและตามลำตัว เป็นฝีหนอง ติดเหาทั้งชายและหญิง เด็กมีภาวะติดเชื้อพยาธิลำไส้ค่อนข้างสูงและรุนแรงในเด็กบางคน เด็กเล็กผูกพันกับพี่ชาย/พี่สาวมาก เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำไปมาหากิน พี่ชายพี่สาวจึงทำหน้าที่พ่อแม่คนที่สองด้วย เด็กหลายคนไม่มีโอกาสใช้ชีวิตวัยเด็กของตนอย่างที่ควร เพราะต้องดูแลน้อง แต่ก็ทำหน้าที่ด้วยความเต็มใจ

เด็กหลายคนฟังและเข้าใจภาษาไทยเพียงเล็กน้อย

การพัฒนาของเด็กเล็กในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และความสัมพันธ์กับสายตาอยู่ในระดับต่ำ พิจารณาได้จากการที่เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้มือรับลูกบอลที่โยนให้ได้ แม้จะโยนสูง หรือโยนให้ช้าๆ ก็ตาม เด็กเล็กไม่คุ้นเคยกับของเล่น สังเกตได้จากพฤติกรรมเด็กเมื่อครูแจกของเล่นฝึกสติปัญญาให้ในชั่วโมงเรียน เช่นของเล่นที่เป็นชิ้นต่อประกอบต่างๆ เด็กไม่เข้าใจว่าคืออะไร และไม่สามารถประกอบได้  ครูต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อให้เด็กทำตาม ซี่งแตกต่างกับเด็กเล็กในชุมชนไทยทั่วไป

เด็กวัยเรียนชั้นประถมจำนวนมากไม่ได้ไปโรงเรียน โดยเฉพาะเด็กชายไม่อยากไปโรงเรียน เพราะมีปมด้อย หลายคนมีประสบการณ์ไม่ดีจากโรงเรียน เช่นเพื่อนดูถูก ล้อเลียน ที่เป็นชาวมอแกน  เด็กที่ไปเรียนทั้งชายหญิง ไม่เคยมีใครจบชั้น ป.๖ เมื่อพูดคุยและถามว่ามีใครอยากไปเรียนที่จังหวัดระนอง ไม่มีเด็กคิดอยากไปเรียน และหลายคนมีความหวาดกลัวที่จะไปเรียนบนฝั่ง ค่านิยมที่หนุ่มสาวมอแกนมีครอบครัวเร็ว ความบีบคั้นให้ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำมาหากิน ประสบการณ์ไม่ดีจากโรงเรียน และคำเล่าลือต่างๆเกี่ยวกับผู้ใหญ่ที่ถูกตำรวจจับข้อหาคนต่างด้าวหลบหนีเข้า เมือง ล้วนเป็นเหตุผลที่เด็กๆไปอยากไปเรียนที่ระนอง


ขอบข่ายของโครงการ

    • ศูนย์เด็กปฐมวัยมอแกนเกาะเหลา

เน้นพัฒนาการตามวัยสำหรับเด็ก ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์

สังคม และจิตใจ

    • การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ส่งเสริมให้เด็กไปโรงเรียน สอนการบ้านหลังเลิกเรียน เสริมทักษะชีวิตเบื้องต้น

    • น้ำดื่มสะอาด

จัดหาน้ำดื่มสะอาดและน้ำสำหรับบริโภคตลอดปี

    • สุขอนามัย

ติดตามภาวะโภชนาการ ดูแลให้เด็กได้รับประทานอาหารครบหมู่

ลดอัตราการเจ็บป่วย ลดอัตราการติดเชื้อพยาธิลำไส้และพยาธิชนิดอื่นๆ

    • ช่วยฟื้นวิถีมอแกนเกาะเหลา

กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมมอแกน ความภาคภูมิใจในเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา ขนบธรรมเนียมของตน

ค่ายเยาวชนมอแกน โครงการพี่สอนน้อง

กิจกรรม “ผู้ใหญ่สอนเด็ก” เพื่อถ่ายทอดความรู้ วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ การร้องเพลงมอแกน เพลงกล่อมลูก การเล่นพื้นบ้าน “รองแงง” ฯลฯ

ช่วยเสริมสร้างเครือข่ายมอแกน เพื่อให้สามารถพึ่งพาอาศัยกันและกัน


โครงการเครือข่ายกองทุนเพื่อการศึกษา ภูเก็ต-พังงา

  • ทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนชาวมอแกนและเด็กยากจน ผ่านโรงเรียนในเครือข่าย 12 แห่ง ในจังหวัดภูเก็ต และ พังงา
  • ส่งเสริมศักยภาพในการระดมทรัพยากรท้องถิ่นสำหรับโรงเรียนในเครือข่าย

โครงการส่งเสริมรายได้สำหรับกลุ่มครอบครัวยากจน

  • เตาเผาถ่านอิวาเตะผลิตน้ำส้มไม้
  • เกษตรผสมผสานเพื่อการพึ่งตนเอง
  • โครงการปลูกและอนุรักษ์ป่าชายเลน

Fatal error: Uncaught Error: mysqli object is already closed in /home1/mercycen/public_html/new/th/index.php:164 Stack trace: #0 /home1/mercycen/public_html/new/th/index.php(164): mysqli->close() #1 {main} thrown in /home1/mercycen/public_html/new/th/index.php on line 164